ในความทรงจำ

เรื่องราวของนักสู้ชีวิต ที่อุทิศให้กับงานที่ตนรัก

เรื่องราวของนักสู้ชีวิต ที่อุทิศให้กับงานที่ตนรัก ใคร ๆ ก็มักจะพูดถึงคุณเล็ก วงศ์สว่าง กันในตอนที่ชีวิตเดินมาถึงความสำเร็จของการเป็นนักจัดรายการวิทยุเพลงสากลที่มีชื่อเสียง และเป็นเจ้าของหนังสือเพลงและพ็อกเกตบุ๊กที่คนรออ่านมากที่สุด แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงพื้นเพดั้งเดิมและชีวิตในช่วงวัยเด็กของคุณเล็ก วงศ์สว่าง

ในฐานะที่เว็บ I.S. Song Hits ถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการเผยแพร่และเป็นอนุสรณ์แด่ผลงานของ “คุณเล็ก วงศ์สว่าง” ให้สามารถสืบค้นเป็นที่กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ย้อนวันวานของคุณเล็ก วงศ์สว่าง เพื่อฉายภาพในวัยอดีตให้ทุกคนได้รู้จักตัวตนของคุณเล็ก วงศ์สว่าง 

ฉายแววนักธุรกิจตั้งแต่เด็ก

“เล็ก วงศ์สว่าง” หรือชื่อเดิม “ปรีชา วงศ์สว่าง” เป็นคนเมืองเหนือ พื้นเพเป็นคนจังหวัดแพร่ เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2485 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีพ่อเป็นผู้ตรวจการจังหวัดในขณะนั้น เมื่ออายุ 5 ขวบ คุณเล็กศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสมบูรณ์ปัญญา จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 

คุณเล็ก วงศ์สว่าง เริ่มส่อแววเป็นนักธุรกิจตั้งแต่แค่อายุเพียง 10 ขวบ โดยในขณะนั้นเริ่มหารายได้พิเศษโดยได้ชักชวนเพื่อนฝูงไปรับใบเรียงเบอร์ในราคาใบละ 12 สตางค์ แล้วนำมาขายในราคาใบละ 25 สตางค์ แม้ต่อมาจะถูกพ่อห้ามเพราะกลัวได้รับอุบัติเหตุ แต่คุณเล็กก็ยังคิดหาเงินด้วยวิธีใหม่ นั่นคือการขายอ้อยควั่นตรงปากทางเข้าโรงเรียนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาหลังเลิกเรียนก็จะเก็บกระดาษหนังสือพิมพ์มาพับเป็นถุงขาย เพิ่มรายได้เป็นกอบเป็นกำขึ้นมาอีก

สำหรับคุณเล็ก วงศ์สว่าง แล้วหากย้อนกลับไปในนาทีที่กำลังพับถุงและสัมผัสหมึกพิมพ์จากกระดาษ ในตอนนั้นเขาคงไม่คาดคิดหรอกว่า ในอนาคตข้างหน้าจะได้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ ผลิตสิ่งพิมพ์ที่มีกิจการใหญ่โต

การเลือกเรียนศิลปะ จุดเปลี่ยนสู่ความสนใจในด้านดนตรี

คุณเล็ก วงศ์สว่าง ย้ายมาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนศรีอยุธยา จนจบ ม.3 ก็ย้ายมาศึกษาต่อ ม.4 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย คุณเล็ก วงศ์สว่าง ก็เลือกสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะอิสระสื่อสารมวลชน ซึ่งปัจจุบันก็คือคณะนิเทศศาสตร์ โชคร้ายที่ไม่สบายจึงพลาดการสอบสัมภาษณ์สำคัญ แต่ด้วยความที่คุณเล็ก วงศ์สว่าง ชอบศิลปะอยู่แล้ว จึงไม่ลังเลที่จะเลือกเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง

ช่วงที่คุณเล็ก วงศ์สว่าง ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยเพาะช่างนั้น ได้มีโอกาสออกแบบหน้าปกหนังสือ “Current Song Hits” ซึ่งต่อมาหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเหมือนคู่แข่งกับหนังสือ “I.S. Song Hits” ที่คุณเล็ก วงศ์สว่าง ผลิตออกมาหลังจากที่เข้าสู่วงการนักจัดรายการวิทยุแล้ว ซึ่งในช่วงนี้เอง ก็เป็นช่วงที่คุณเล็กเริ่มให้ความสนใจด้านดนตรีและสื่อวิทยุ ครั้งหนึ่งคุณเล็ก วงศ์สว่าง เคยเขียนจดหมายเข้าไปขอเพลงในรายการวิทยุ และได้ยินชื่อตัวเองออกอากาศเป็นครั้งแรก คุณเล็กนึกในใจว่า “สักวันจะต้องเข้าไปดูวิธีการจัดรายการวิทยุ ว่ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไรให้ได้”

เดินตามฝัน มุ่งมั่น จนถึงวันสำเร็จ

ในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยเพาะช่าง  คุณเล็ก วงศ์สว่าง เริ่มมีความสนใจวงการดนตรีและชอบรายการวิทยุ ประกอบกับที่เป็นคนชอบฟังเพลงสากลอยู่แล้ว จึงมีความคิดที่อยากจะเป็นนักจัดรายการวิทยุ แต่ต้องบอกว่า ในยุคที่ช่องทางการสื่อสารยังไม่ได้สะดวกง่ายดายอย่างในสมัยนี้ การที่จะได้เป็นนักจัดรายการวิทยุจึงยังดูเป็นเรื่องห่างไกล แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะหยุดความฝันของผู้ชายคนนี้ได้

ในขณะนั้น แม้คุณเล็ก วงศ์สว่าง จะยังไม่มีความพร้อมในด้านการเงินที่จะมีรายการวิทยุเป็นของตัวเอง แต่คุณเล็ก วงศ์สว่าง ก็พยายามมองหาช่องทางและโอกาสที่จะทำให้ตนเองได้เข้าใกล้กับสิ่งที่ตนฝันที่สุด แม้กระทั่งการพาตนเองเข้าไปขอช่วยงานเป็นลูกมือของเถ้าแก่ร้านขายกาแฟ ที่เจ้าของเป็นนักจัดรายการวิทยุคนแรกของเมืองไทย นั่นคือ “คุณหลุยส์ ธุระวณิชย์” โดยในเวลานั้น คุณเล็ก วงศ์สว่าง ได้อดทนช่วยงานในร้าน จนคุณหลุยส์ ธุระวณิชย์ เห็นแววและความมุ่งมั่นจนให้โอกาสในการลองจัดรายการในช่วงเวลาสั้น ๆ 

แต่นั่นยังไม่ใกล้ปลายทางฝันที่คุณเล็ก วงศ์สว่าง ตั้งไว้เลย ตรงกันข้าม มันกลับเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้คุณเล็กได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการต้องลงมือหาเม็ดเงิน เพื่อมาสนับสนุนการผลิตรายการตามรูปแบบของการจัดรายการวิทยุในยุคสมัยนั้น ซึ่งคุณเล็ก วงศ์สว่าง ก็ผ่านบททดสอบครั้งสำคัญของชีวิตในครั้งนั้นไปได้เป็นอย่างดี

ด้วยความสามารถเฉพาะตัวและอุปนิสัยที่คุณเล็ก วงศ์สว่าง เป็นผู้สนใจใฝ่รู้ อยากรู้อะไรต้องสืบค้น เสาะหา สอบถามมาให้ได้ จนทำให้เป็นผู้มีความรอบรู้ด้านวงการดนตรีสากลคนหนึ่ง บวกกับความมุ่งมั่น ทำอะไรทำจริง คุณเล็ก วงศ์สว่าง จึงสามารถหาผู้สนับสนุนรายการวิทยุได้ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนสามารถมีรายการวิทยุของตนเองอย่างเต็มรูปแบบ นั่นคือรายการ “เพลงประทับใจ Impressive Song” หรือ “I.S. Song Hits” ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอย่างมาก จนชื่อ “เล็ก วงศ์สว่าง” ได้ถูกกล่าวขานในฐานะนักจัดรายการวิทยุเพลงสากลแถวหน้าของเมืองไทยในยุคนั้น

รายการวิทยุ “I.S. Song Hits” ของคุณเล็ก วงศ์สว่าง เป็นที่ถูกใจของผู้ฟังจำนวนมาก และมีจดหมายเขียนมาขอเนื้อเพลงสากลที่เปิดในรายการเป็นจำนวนมากจนคุณเล็กไม่สามารถตอบและส่งกลับเนื้อเพลงไปให้ได้หมด แต่ด้วยความเป็นนักคิด นักสร้างงาน จึงมองเห็นโอกาสว่าถ้าสามารถทำให้ผู้ฟังมีโอกาสในการหาเนื้อเพลงสากลที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น แฟนเพลงคงจะมีความสุขกับการรับฟังและยังร้องตามเพลงในรายการได้อีกด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำหนังสือเพลงในยุคต่อมา

3 คีย์เวิร์ด ในการสร้างงาน

วิธีคิดสร้างงานของคุณเล็ก วงศ์สว่าง มีเอกลักษณ์อยู่ที่ความแปลกใหม่ใน ณ ช่วงเวลานั้น และเกิดจาก 3 คีย์เวิร์ด ที่คุณเล็ก วงศ์สว่าง เคยเล่าให้ฟังคือ

“ผมคิดอยู่ตลอดทุกวินาทีว่าจะทำอะไร เพราะอะไร และอย่างไร 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ตัดสินใจไม่เคยพลาด เพราะคิดก่อนทำ ไตร่ตรองแล้วชิงลงมือทำเลย ทำก่อนได้เปรียบ ยกตัวอย่างแรก สมัยจัดรายการเพลง เห็นคนขอเนื้อเพลงเพื่อจะร้องตาม เราก็แกะเนื้อเพลงฝรั่งลงหนังสือเลย ซึ่งตรงนี้มาจากแนวคิดที่ว่า “เราคือผู้นำ ไม่ใช่ผู้ตาม”

ตัวอย่างที่สอง สมัยก่อนคนติงว่าหนังสือ I.S. Song Hits ว่าเพลงเชย ไม่ทันสมัย เราก็เลยพลิกกลยุทธ์ เอาศิลปินดัง ๆ มาถ่ายโปสเตอร์เลย นอกจากลูกค้าซื้อหนังสือแล้วยังได้โปสเตอร์กลับบ้าน มาจากแนวคิดที่ว่า “ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน”

ตัวอย่างที่สาม เห็นกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีที่ฮิตมากในสมัยนั้น คนพกพาไปไหนมาไหนเป็นประจำ เราก็จ้างครูสอนดนตรีที่เก่ง ๆ มาแกะคอร์ดลงหนังสือเพลงเลย ตั้งแต่นั้นมาใคร ๆ ก็ถือกีตาร์ พกหนังสือของผมคู่กันไปด้วย นี่คือแนวคิด “ถ้าเราไม่ริ แล้วใครจะเริ่ม”